วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กรมโรงงานฯตื่น ไล่บี้เคมีมหาภัย

กรณีเอ็นจีโอร่วมมือกับชาวมาบตาพุด จ.ระยองยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพิกถอนมติ ครม. ที่อนุญาตให้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางประเภทที่เข้าข่ายเป็นกิจการรุนแรง ถือเป็นอีกบทเรียนราคาแพงที่อุตสาหกรรมไทยไม่ควรลืม

ยอมรับกันเสียที เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ที่ผ่านมาเมืองไทยยังอ่อนหัดเอามากๆกับเรื่อง เทคโนโลยีความปลอดภัยในอุตสาหกรรม

ไม่ ว่าจะเป็นวิธีจัดการกับสารเคมีอันตรายสูง ซึ่งมีใช้กันเกลื่อนในโรงงานหลายพันแห่ง รูปแบบการขนถ่าย ขนส่ง วิธีแก้ปัญหาเมื่อสารเคมีอันตรายเกิดการรั่วไหล มาตรการกำจัดสารพิษที่ภาคอุตสาหกรรมปล่อยสู่สาธารณะ หรือแม้ แต่การทำให้ชาวบ้านรอบโรงงานรู้สึกว่า ตัวเองปลอดภัยจากอุตสาหกรรมที่อยู่รายรอบพวกเขา

ปัญหาเหล่านี้ นับว่าอุตสาหกรรมไทยยังอ่อนหัดต่อโลก

วัน ก่อน สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้จัดอบรมขนานใหญ่ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อหวังให้สามารถจัดการกับสารเคมีอันตรายสูงซึ่งมีใช้กันเกลื่อนตามโรงงาน อย่างถูกต้อง โดยจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค

อุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประธานการอบรม เปิดประเด็นว่า เวลานี้เมืองไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเร่งพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันกับนานา ประเทศให้ได้

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาเสมือนเงาตามตัวก็คือ น้ำเสีย มลพิษในอากาศ และกากอุตสาหกรรม ดังเช่นที่เคยเป็นข่าวใหญ่ กรณีแก๊สหรือสารเคมีรั่วไหล ที่มาบตาพุด จ.ระยอง และตามที่ต่างๆ

"เมื่อ ก่อนพอรู้ว่าจะมีใครไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านละแวกนั้น มักดีใจจนเนื้อเต้น เพราะพอเดาได้ว่า อีกไม่นานจะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ผิดกับเดี๋ยวนี้แค่รู้ข่าวว่าจะมีใครมาตั้งโรงงานแถวใกล้บ้าน ชาวบ้านพากันหวาดผวา รวมตัวต่อต้านกันไว้ก่อน เพราะไม่ไว้ใจ ว่าอุตสาหกรรมเหล่านั้น จะนำพิษภัยมาให้หรือเปล่า"

รองอธิบดีกรม โรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า ดังนั้น สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยุคนี้ต้องตระหนักก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นว่า สารเคมีที่ท่านใช้ในกระบวนการผลิตมีความปลอดภัยแค่ไหน มีมาตรการจัดเก็บและกำจัดยามเมื่อเกิดเหตุรั่วไหลอย่างไร เป็นต้น

โดย เฉพาะการบริหารจัดการกับสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรง เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก หากเจ้าของอุตสาหกรรมสามารถทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจได้ทั้งระบบ ชุมชนจึงจะเกิดความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจึงจะอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

รองฯอุฤทธิ์บอกว่า ในปี 2553 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำคู่มือการจัดการกับสารเคมีอันตรายสูง 3 ตัวแรก ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย

ได้แก่ แอมโมเนีย กรดซัลฟูริก และ ฟอร์มาลดีไฮด์ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน คือ นายมงคล พันธุมโกมล และ นายกฤตพัฒน์ จุ้ยเตย เป็นวิทยากรให้ความรู้

แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายสูงตัวแรก ปัจจุบันมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยมากถึงปีละประมาณ 3 แสนตัน สารเคมีชนิดนี้ถูกนำไปใช้ ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตไนลอนมากที่สุดถึง 46%

นำ ไปใช้ในกระบวนการผลิตผงชูรสราว 18% นำไปเป็นส่วนผสมในน้ำยางข้น เพื่อไม่ให้น้ำยางแข็งตัว และใช้ผลิตถุงมือยางอีกราว 15% ใช้ในรูปของสารเคมี 12% ใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็นและโรงน้ำแข็ง 3% และใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อม 1%

ที่ผ่านมาอุบัติเหตุจากสารแอมโมเนีย รั่วไหลในเมืองไทย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามโรงงานห้องเย็น และโรงผลิตน้ำแข็ง โดยสาเหตุหลักของการรั่วไหล มักเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด และความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน

แอมโมเนียซึ่งมีสถานะเป็นก๊าซไวไฟ เมื่อบรรจุภายใต้ความดันทำให้เกิดการระเบิดได้หากได้รับความร้อน นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายเมื่อสูดดมเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือหอบหืด หายใจลำบาก เมื่อร่างกายสัมผัสอาจทำให้ ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง และยังเป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

ดังนั้น ข้อพึงระวังสารเคมีชนิดนี้ต้องใช้งานในสถานที่ซึ่งมีการเปิดระบายอากาศได้ดี และห้ามปล่อยน้ำซึ่งเจือปนแอมโมเนียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด

วัสดุ ที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนีย รวมทั้งน้ำที่ใช้ล้างและน้ำจากการระงับเหตุสารแอมโมเนียรั่วไหล จะต้องทำให้มีสภาพเป็นกลางเสียก่อน เช่น ใช้กรดเกลือชนิดเข้มข้น 5% นำมาผสม ก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

หรือกรณีน้ำมันหล่อลื่นที่ถ่ายออก จากระบบทำความเย็น ซึ่งมีสารแอมโมเนียปนเปื้อน ต้องส่งไปกำจัดโดยผู้ที่ได้รับอนุญาต และใช้วิธีการกำจัดที่ถูกต้องเท่านั้น

กรดซัลฟูริก เป็นสารเคมีอันตรายสูงอีกตัว ที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

หาก ยังจำกันได้เมื่อ 10 ปีก่อน มีข่าวใหญ่กรณีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย จากอุบัติเหตุกรดซัลฟูริกรั่วไหลออกจากแท็งก์บนรถบรรทุก ที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีก๊าซไฮโดรเจนสะสมอยู่ในแท็งก์ โดยประกายไฟจากการเชื่อมเพื่อซ่อมรอยรั่วของแท็งก์บรรจุกรดซัลฟูริกทำให้ เกิดแรงระเบิดมหาศาล

ทุกวันนี้กรดซัลฟูริกถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมไทย อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ในกระบวนการผลิตไนลอน 19% ใช้ในอุตสาหกรรมเรยอน 17% ใช้ผลิตสารส้ม 14% ผลิตผงชูรส 13% ใช้สกัดแร่ 9% ผลิตแบตเตอรี่ 2% และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2% เป็นต้น

ข้อพึงระวังในการใช้กรดชนิด นี้ นอกจากห้ามหายใจเอาละอองไอของสารเคมีตัวนี้เข้าไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ขณะทำงานต้องสวมชุดและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลไว้เสมอ

และสิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ กรดชนิดนี้เมื่อกัดกร่อนโลหะ จะทำให้เกิด ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นสารไวไฟ

กรณี ช่างเชื่อมแท็งก์ซึ่งบรรจุกรดซัลฟูริก 1 รายตายคาที่ อีก 2 รายบาดเจ็บสาหัส ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นข่าวใหญ่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ล้วนตายและบาดเจ็บจากสาเหตุนี้นั่นเอง


การกำจัดสารเคมีร้ายแรงชนิดนี้ จึงห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือดินโดยตรง เพราะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่างในดินเปลี่ยนแปลง

อีกประเด็นที่ต้อง ตระหนักให้มากก็คือ ของเสียส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้กรดซัลฟูริก มีคุณสมบัติเป็นกรด จึงต้องปรับให้มีสภาพเป็นกลางด้วยด่าง โดยใช้ปูนขาวหรือหินปูนมาช่วยปรับสภาพ ก่อนที่จะนำของเสียเหล่านั้นไปทำการฝังกลบตามกฎหมาย

ฟอร์มาลดีไฮด์ และ ฟอร์มาลิน เปรียบเสมือนดาวร้ายที่แฝงมาในคราบพระเอกอีกตัวในแวดวงอุตสาหกรรมไทย

เนื่องจาก มีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง โดยปริมาณมากถึง 70% ถูกนำไปใช้ในรูปของยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ เพื่อผลิตเป็นพาติเกิลบอร์ด และสารเคลือบต่างๆ

14% ถูกนำไปใช้ในรูปโพลีอะซีทัล เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจาก นี้ ยังถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรกรถยนต์ ใบเจีย ใบตัด ทรายทำแบบหล่อ ถ้วยชาม สารเคลือบเมลามีน สารฆ่าเชื้อ สารกันเสีย ยาฆ่าแมลง รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้ เป็นของเหลวไวไฟ จึงเป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน เป็นพิษเมื่อสัมผัสผิวหนัง และเป็นอันตรายถึงตายได้เมื่อสูดดมเอาไอเข้าไปเป็นปริมาณมาก

รายงานวิจัยล่าสุด ยังมีข้อสงสัยว่า สารเคมีร้ายแรงชนิดนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ดัง นั้น เมื่อฟอร์มาลดีไฮด์และฟอร์มาลินเกิดการรั่วไหล ผู้เข้าไปกู้ สถานการณ์จำเป็นต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่เหมาะสม และกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณ โดยอพยพผู้คนออกไปทางเหนือลม และใช้น้ำฉีดเป็นฝอยเพื่อดักกลุ่มไอระเหย

มาตรการกำจัดของเสีย โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารชนิดนี้ต้องละลายของเสียจากฟอร์มาลินด้วยน้ำ ปริมาณมาก และเติมสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 50% ลงไปก่อนที่จะนำไปเข้าระบบบำบัดน้ำเสียอีกชั้น

สำหรับกากของเสียซึ่ง เป็นของแข็ง ห้ามใช้วิธีฝังกลบเพราะสลายตัวยาก วิธีการที่ถูกต้องจะต้องนำส่งให้ผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้นำไป กำจัดด้วยวิธีเผาที่อุณหภูมิสูงเท่านั้น

แม้ทุกรัฐบาลต้องการนำพา ประเทศให้เติบโตอย่างถาวร โดยใช้ อุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน แต่การบ้านข้อแรกที่ต้องไม่ลืมก็คือ จะจัดการอย่างไรกับพิษภัยที่ตามมาจากอุตสาหกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น